000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > ปกิณกะ > บันทึกย่อข้อมูล สูตรไหนดีและความจริงที่คุณนึกไม่ถึง
วันที่ : 08/03/2016
7,957 views

บันทึกย่อข้อมูล สูตรไหนดีและความจริงที่คุณนึกไม่ถึง

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

          ในการบันทึกเสียงลงตัวเก็บข้อมูล (storage) มีวิธีการหรือสูตรในการบันทึกหลายสูตร จากการที่ตัวเก็บข้อมูลมี ความจุจำกัด ไม่ว่าตัวแผ่น CD-R หรือตัวเก็บแบบไร้กลไกเคลื่อนไหว (Solid State) เช่น การ์ดความจำ SD,MMC,MS และ MicroSD, ฯลฯ จึงมีการค้นคิดสูตร หรือการเล่นแร่แปรธาตุ ที่จะย่นย่อสัญญาณเพลงให้เหลือข้อมูลน้อยลง จนถึงน้อยที่สุด เพื่อใช้เนื้อที่เก็บของตัวบันทึกน้อยที่สุด โดยเฉพาะพวกการ์ดความจำที่ราคาต่อหน่วยความจุยังสูงอยู่ (แต่ก็ถูกลงแทบทุก 3 เดือน)

          ในการย่นย่อสัญญาณ ผู้คิดค้นสูตรย่อแต่ละค่ายถือหลักเดียวกันว่า ดึงส่วนประกอบบางส่วนของข้อมูลออก “ทิ้งไปเลย” เป็นส่วนประกอบที่เขาคิดว่า น่าจะไม่สลักสำคัญอะไร แม้คุณภาพเสียงเมื่อเล่นกลับ จะด้อยลงบ้าง แต่หูชาวบ้านทั่วไปก็น่าจะพอยอมรับได้ ถ้าไม่หูขนาดไฮเอนด์

          แต่ละค่าย ( สูตร ) ก็มีข้ออ้างต่างกันไป บางค่ายอาจคิดว่าตัดตรงนี้ดีกว่า หูจะยังรับได้ ดีกว่าตัดตรงนั้น อีกค่าย (สูตร) อาจต่างกันไปและคิดว่าตัดตรงนั้นดีที่สุด เหมาะกับสไตล์เพลงที่กำลังฮิตในปัจจุบัน การนำเสนอสูตรการย่นย่อต่างกัน ก็จะเปลืองเนื้อที่ความจุข้อมูลต่างกันไป

          ฝรั่งนักวิจารณ์บางคนอ้างว่าถ้าใช้วิธีย่นย่อข้อมูลโดยการตัดทิ้งไปเลยเหล่านี้ (อาจเรียกวิธีนี้ว่า lossy compression) ไม่ว่าสูตรไหน มันก็ฟังเหมือนๆกันไปหมดซึ่งจริงๆแล้ว....ไม่จริง ขอยืนยันว่า ฟังออกว่าต่างกัน จริงๆมันน่าจะขึ้นอยู่กับว่า ตัวต้นฉบับเอง (master) ทำมาดีเลวแค่ไหน ถ้าต้นฉบับหรือแผ่นอัลบั้มนั้นๆทำมาดีเยี่ยม แน่นอนว่า แต่ละสูตรของการย่นย่อตัดทิ้ง ย่อมฟังออกว่าต่างกัน แต่ถ้าอัลบั้มนั้นทำมาไม่ได้เรื่อง เสียงแห้ง,แบน,ไม่มีไดนามิคอยู่แล้วก็อาจเป็นได้ว่า ความแตกต่างอาจน้อยลงจนแทบไม่ต่างกัน ชุดเครื่องเสียงที่ใช้ฟังก็มีผล ถ้าติดตั้งผิดๆถูกๆ ตามมีตามเกิด ระบบไฟห้องเสียงผิดพลาด ก็เป็นไปได้สูงที่จะเกิดอาการฟังแล้ว “ไม่ต่างกัน

          ก่อนอื่นต้องเข้าใจกันก่อนว่า ระบบย่นย่อตัดทิ้ง(lossy)นี้ เมื่อข้อมูลถูกตัดทิ้งไปแล้วก็เป็นอันว่าเรียกกลับคืนมาอีกไม่ได้แล้ว ไปแล้วไปลับไม่กลับมา

          อย่าไรก็ตามในระบบ lossy นี้แต่ละสูตรก็อาจเลือกย่อยได้อีกว่าเราจะตัดข้อมูลทิ้งอย่าง “เข้มข้น”มากน้อยแค่ไหน เช่นสูตรของ MP3 เลือกได้ว่า จะบันทึกข้อมูลหนาแน่นมากน้อยแค่ไหน(bit rate) เช่น 48,128,192,320 kbps (ยิ่งมากยิ่งดี) และเวลาบันทึกจะโอนถ่ายข้อมูลช้า-เร็วแค่ไหน(ยิ่งช้ายิ่งดี จนถึง real time ความเร็ว 1:1) ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าสูตรไหนดี กว่ากันก็ต้องดูด้วยว่า ที่ระดับความเข้มข้นและความเร็วการโอนถ่ายเท่ากันหรือเปล่า จะได้ไม่เสียเปรียบได้เปรียบ

          อีกวิธีคือ การบันทึกแบบย่นย่อก็จริงแต่ไม่มีการตัดทอนข้อมูลทิ้งเลย เวลาบันทึกจะย่นย่อข้อมูลลง(แต่ยังอยู่ครบ) เพื่อประหยัดเนื้อที่เก็บข้อมูล เวลาเล่นกลับต้องขยับถ่างข้อมูลคืนกลับสู่สภาพเดิม วิธีนี้พอจะพูดได้ว่า ไม่มีการสูญเสียข้อมูล(lossless compression) แต่วิธีนี้จะกินเวลาการโอนถ่าย ข้อมูลจะหนาแน่นกว่าวิธีแรกมากเช่น อาจถึง 10 Mb/นาที ค่ายที่ใช้วิธีการนี้เช่น ค่ายของ Windows Media Player,itunes,Real Player พวกนี้ให้เลือกได้ว่าจะเป็นแบบไม่ตัดทิ้งหรือตัด ถ้าไม่ตัดก็เป็น WNA,FLAC,Monkey’s Audio(APE) พวกนี้เป็น open-source lossless

         ค่ายแรกที่มีการตัดทิ้ง(lossy) จะใช้การโอนถ่ายข้อมูลต่ำกว่ามากอาจถึง 1 Mb/นาที(หรือต่ำกว่า!) ค่าย MP3 จะเป็นที่รู้ จักและใช้กันแพร่หลายที่สุด แต่สูตรใหม่กว่าอย่าง AAC,Vorbis,ATRAC จะให้คุณภาพเสียงดีกว่า(ที่ขนาดไฟล์ข้อมูล พอๆกัน)

          ในการดาวน์โหลดข้อมูลเพลงจากเว็บไซต์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต เกือบทั้งหมดที่มีบริการให้เราโหลดมาได้จะส่งข้อมูลมาแบบตัดทิ้ง(lossy) ไม่สูตรใดก็สูตรหนึ่ง บางเว็บอาจมีสูตรให้เลือก 2-3 สูตรที่ดังๆบางเว็บที่ต้นสังกัดเป็นค่าย เครื่องเสียงไฮเอนด์ ถึงขนาดให้เลือกโหลดได้หลายระดับคุณภาพเช่น ระดับต่ำสุดสำหรับเครื่องเล่นพกพา,ระดับสูงขึ้นมาเป็นแผ่น CD ระดับสูงสุดเท่ามาสเตอร์ต้นฉบับเลย โดยมีราคาค่าดาวน์โหลดไล่จากต่ำสุดไปสูงสุดและเลือกเพลงได้ ไม่บังคับว่าต้องยกทั้งอัลบั้ม

          อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์คลังเพลงเหล่านี้เกือบทั้งหมดจะใส่รหัสป้องกันการก๊อบปี้มาในระดับอ่อนแก่ต่างเงื่อนไขกันไปเช่น จำกัดจำนวนคอมพิวเตอร์หรือชนิดของเครื่องเล่นพกพาหรือการ์ดเสียงที่จะเปิดฟังได้หรือยอมให้เอาข้อมูลที่โหลดมาแล้วนั้นไปก๊อบปี้ต่อได้อีกกี่ครั้งและอื่นๆ สูตรป้องกันนี้ที่โด่งดังเป็นของ DRM(Digital Right Management)

          อย่างไรก็ตาม ตัวป้องกันนี้แหละที่สร้างปัญหาปวดหัวให้แก่ผู้ใช้บริการ เกิดคุณเปลี่ยนคอมพิวเตอร์,การ์ดเสียง ที่ใช้ใหม่คราวนี้จะยุ่ง เพลงทั้งหมดที่คุณสู้อุตส่าห์เสียเงินดาวน์โหลดมาเก็บไว้ในฮาร์ด-ดิสก์ก็เป็นอันว่า เปิดฟังไม่ได้อีกต่อไป บางทีคุณไม่ได้อยากเปลี่ยนแต่เครื่องถูกขโมยไป โชคดีที่คุณแชร์ฮาร์ด-ดิสก์คลังเพลงของคุณไว้ แต่คราวนี้ก็โชคร้ายคือ เปิดฟังไม่ได้

          ปัญหานี้เกิดกับผู้ที่ซื้อแผ่น CD เพลงลิขสิทธิ์ของบางค่ายด้วยเช่นกัน ที่ใส่การป้องกันการก๊อบปี้ DRM ที่อาจก๊อบปี้ ลงคอมพ์,ลงเครื่องพกพาได้ครั้งเดียว ( ลำดับเดียว หรือ generation เดียว ) จะเอาตัวก๊อบปี้ไปก๊อบปี้ต่อๆไปอีกไม่ได้  แสบกว่านั้นบางค่ายถึงกับใส่ หน่วยก่อกวน จากแผ่น CD แท้เข้าไปในคอมพ์ของคุณ ถ้าคุณสั่งก๊อบปี้ ทำให้คอมพ์พังได้

          ปัญหาการป้องกันการก๊อบปี้เหล่านี้ ป่วนผู้ที่ปฏิบัติตามกฎหรือเด็กดี ขณะที่ผู้ละเมิดกฎหรือโจรสลัดที่ตะเวนดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์กลับลอยนวล ไม่มีปัญหาการป้องกันการก๊อบปี้ใดๆดูแล้วไม่ยุติธรรม ตลกอีกต่างหาก ที่ค่ายเพลงมุ่ง “ทำโทษ”ลูกค้าที่อุดหนุนพวกเขาอย่างซื่อสัตย์ เป็นนโยบายไล่คนดีไปเป็นคนชั่วชัดๆ ค่ายเพลงดังฝรั่งที่เจ้าของเป็นญี่ปุ่นบางค่ายเคยเกิดปัญหา DRM นี้ ถึงกับต้องเรียกแผ่นอัลบั้มเพลงกลับจากแผงเป็นแสนๆแผ่น(ในสหรัฐฯ) ก้ไม่รู้ว่าขนไปหลอกขายต่อที่ประเทศด้อยพัฒนาไหนบ้าง(ไทยคงโดนแน่ๆ)

          คำแนะนำของ “เซียน”ก๊อบปี้ จึงบอกให้ไปซื้ออัลบั้มเพลง(CD)ที่ใช้แล้วตามร้านขายแผ่น เอาไปก๊อบปี้ให้หนำใจ จะก๊อบปี้คุณภาพดีเลวอย่างไรก็ได้ แล้วเอากลับมาขายคืนให้กับทางร้าน(ด้วยราคาลดลง) ก็จะได้ก๊อบปี้ที่ดีที่สุด ไร้ปัญหาโดยสิ้นเชิงและประหยัดที่สุด(อืม...น่าคิด น่าคิด) เว็บไซต์ที่ขายแผ่น CD เพลงใช้แล้วใหญ่ๆในสหรัฐฯก็เช่น Amazon หรือ eBay ที่เรารู้จักกันดี

          ถ้าคิดในแง่นี้ ก็น่าจะมีธุรกิจให้เช่าแผ่น ไม่ว่า CD หรือ DVD หรือแม้กระทั่ง Blu-ray ที่เลี่ยงจากการเช่าที่อาจหมิ่น เหม่กับกฏหมายลิขสิทธิ์ มาเป็นการขายแผ่นใช้แล้ว โดยทุกแผ่น ทุกอัลบั้มในร้านระบุว่าเป็นของเก่าใช้แล้ว (used) ไม่ได้ ให้เช่า ลุกค้าต้อง “ซื้อ”ไปเลย (ซึ่งจริงๆคือซื้อไปก๊อบปี้ แล้วนำมาขายคืนทีหลัง ) โดยทางร้านระบุว่ายินดีรับซื้อคืนในราคาเท่าไร (ปะไว้ที่กล่องใส่แผ่นเลย )(มีข้อแม้ว่าสภาพแผ่นต้องโอเคด้วย) ดูเหมือนว่าร้านขายแผ่น CD ใหญ่ บ้านเราก็ เคยทำ ขายปกติแผ่นใหม่(ไม่ใช่ used) แต่การันตีรับซื้อคืน(บางแผ่น) ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว

          วิธีนี้เป็นวิธีเดียวที่ร้านค้าปลีกแผ่นจะอยู่รอดได้ สู้กับการดาวน์โหลดได้ โดยเฉพาะเหมาะกับการทำแผ่นที่แพงๆ ไม่ว่าแผ่น DVD AUDIO,SACD,Audiophile CD,และแน่นอน แผ่นหนัง Blu-ray (อย่าลืมว่ามันตลกแค่ไหนที่นับวันเครื่องเล่น Blu-ray ราคาถูกลงๆที่อเมริกาเหลือ 200 เหรียญฯ ( ประมาณ 7,000 บาท ) บ้านเราถูกสุด 16,500 บาท แต่ตัวแผ่นกลับมีราคาประมาณ 1,300-1,600 บาท โดย 1,600 บาทจะให้แผ่น Blu-ray หรือ DVD ที่ย่อข้อมูลจากแผ่นBlu-ray หลัก เพื่อไว้ ก๊อบปี้ลงคอมพ์หรือเครื่องพกพาได้เลย...จะระบุว่ามีแผ่น Digital Copy มาด้วย ซึ่งจริงๆแล้วถ้าจะเป็นอย่างนี้สู้ซื้อแผ่น Blu-ray ปกติเช่น 1,300 บาทบวกกับแผ่น DVD ปกติที่มีวางขายอยู่ทั่วไป “เรื่องเดียวกัน” ที่อาจขายแค่ 99-390 บาทแล้วมาเลือกคุณภาพการก๊อบปี้ลงเครื่องพกพาเอง ยังจะได้คุณภาพที่ดีกว่าด้วย เลือกได้ด้วย)

          ถ้ามีร้านขายแผ่นหนัง Blu-ray ที่ใช้แล้ว (จริงๆก็คือเปิดให้เช่า แต่เลี่ยงไป) วิธีนี้เท่านั้นที่เครื่องเล่น Blu-rayจะได้เกิด หรือน่าเล่น แต่ถ้าซื้อแผ่น Blu-ray แค่ 10-13 แผ่นราคาก็เท่าเครื่องเล่น Blu-ray แล้วละก็ จุดจบของระบบ Blu-ray คงอยู่ไม่ ไกล ไม่ห่าง จากจุดจบของแผ่น SACD,DVD Audio

          ย้อนกลับมาเรื่องการย่นย่อสัญญาณ สังเกตไหมว่า ไม่มีเครื่องก๊อบปี้ลงแผ่น CD หรือลงการ์ดใดๆในระดับชาวบ้านเลยที่จะให้เราเลือกก๊อบปี้อย่างย่นย่อแบบไม่ตัดทิ้ง หรือ ไม่ย่นย่อเลย (Direct Non Compression) ขณะที่ปัญหาความจุของ แผ่นก็แทบหมดความหมายแล้ว (Blu-ray บันทึกได้) หรือดีกว่านั้นบันทึกลงการ์ไร้ปัญหาส่วนเคลื่อนไหว เพราะการ์ดความจำอย่าง SD ที่ขายๆกันก็ไปถึง 4 GB (1,000 กว่าบาท),1 GB (290 บาท),16 GB (3,000 กว่าบาท) บ้าเลือดระดับ 1,000 GB (ก็ออกมาแล้ว) และถูกลงทุก 3 เดือน ตัดปัญหาความจุไม่พอ หรือราคาต่อความจุที่เคยสูง ก็ต่ำลงมากๆ

          เหตุผลที่พวกทำเครื่อง ไม่ทำดังกล่าว ก็เพราะผู้บริโภคจะจับไต๋ได้ว่า การผ่านกระบวนการทำแผ่น,เล่นแผ่น ไม่ว่าแผ่นระบบอะไรก็ตาม ทั้งเสียงและภาพ คุณภาพจะลดลงมาก (ทราบไหมว่า ลึกย้อนขึ้นต้นน้ำในกระบวนการทำมาสเตอร์นั้น เดี๋ยวนี้เขาใช้ตัวเก็บข้อมูลแบบไร้กลไกกันหมดแล้ว แทบไม่มีใครใช้เทปใช้แผ่นกันแล้ว ไม่ว่าค่าย Panasonic,Sony, JVC ฯลฯ) ทั้งการถ่ายทำภาพยนตร์และบันทึกอัลบั้มเพลง…เพราะมันได้คุณภาพที่ดีกว่าระบบกลไกหมุนแผ่นมาก ตัวเครื่องถ่าย,บันทึกก็ถูกกว่า

          แต่พวกเขาไม่อยากให้มันระบาดมาสู่เครื่องเล่นแผ่นหนัง,เพลงชาวบ้านเพราะพวกค่ายขาใหญ่เหล่านี้ (Sony,Panasonic,Toshiba,Phillips ต่างก็เป็นผู้ทรงลิขสิทธิ์เทคโนโลยีการเล่นแผ่นและขายลิขสิทธิ์กินหัวคิว ทุกเครื่องเล่น ที่ทำออกมาขายและพวกเราซื้อใช้กันอย่างมหาศาลทั่วโลกในแต่ละปี) เพราะถ้าชาวบ้านเอะใจ ไหวตัวมาสู่การบันทึกแบบ ไร้กลไก (USB,SD  การ์ด) ขาใหญ่จะสูญเสียเค้กก้อนมหึมาทันที จึงไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมพวกสารพัดเครื่องเล่นที่มีช่องเสียบ USB,SD ฯลฯ จึงถูกล็อกไว้ที่ความละเอียดสูงสุดอย่างเก่งก็ MP3 320 kbps สูงกว่านี้ไม่อ่าน (แต่ในเครื่องเสียงรถ เริ่มมีถึง WAV) และเครื่องบันทึกก๊อบปี้ก็เลือกได้สูงสุดแค่ MP3 320 kbps

          เพราะเมื่อไรก็ตาม ที่ทำให้บันทึกได้ขนาด lossless แบบ 1:1 คุณฟังจะช็อก!!! ผมเองเคยฟังที่เขาบันทึกจากมาสเตอร์เทปดิจิตอลลงการ์ดความจำ โดยไม่มีย่นย่อตัดทอนข้อมูลใดๆมาแล้ว พูดได้คำเดียว ลืมเสียงจากทุกแหล่งรายการที่คุณเคยได้ฟังเลย ไม่ว่าจานเสียง,Open Real,CD, SACD,DVD Audio, Blu-ray มันเหมือนกำลังฟัง “ของจริง”ดีๆนี่เอง

          เมื่อยังไม่ถึงจุดที่ผู้ผลิตเครื่องก๊อบปี้ลงการ์ด และเครื่องเล่นการ์ด จะมีความจริงใจขนาดนั้น ในส่วนของพวกเรา ถ้าเราจะฟังจากการ์ด เช่น SD การ์ด,USB Thumb Drive มีข้อควรคำนึงคือ ทำอย่างไรก็ได้ ให้สัญญาณจากการเล่นแผ่น CD มีคุณภาพสูงที่สุด เท่าที่จะทำได้ (และเงินในกระเป๋าของคุณสู้ไหว) จากนั้นจึงบันทึกลงการ์ด เช่น SD

ลองมาพิจารณาความจริงข้างล่างนี้

กรณีที่ 1

          คุณใช้เครื่องเล่น CD ระดับไฮเอนด์ เช่น Mark Levinson No.39 ราคา 320,000 บาทหรือ Mark Levinson แยก 3 ชิ้น (1,300,000 บาท) ถ่ายบันทึกลงการ์ดหรือ USB ด้วยเครื่องบันทึกระดับสตูดิโอ (40,000 บาท) เสียงจากการ์ดอาจลดลงจาก แผ่น ผมว่าไม่น่าเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ คุณว่า เสียงจากการ์ดที่ได้จะเลอเลิศขนาดไหน

          แล้วถ้าเครื่อง CD  Mark Levinson No.39 ดีกว่าเครื่องเล่น CD ระดับตลาดๆสัก 4 เท่า ต่อให้การ์ดคุณภาพลดลง 5 เปอร์เซ็นต์ เสียงจากการ์ดก็ต้องกินขาดเครื่องเล่น CD ระดับกลางทุกตัวในตลาด

          แล้วถ้าใช้เครื่องเล่น CD Mark Levinson 3 ชิ้น ถามว่าจะมีเครื่องเล่น CD ระดับ300,000 บาทลงมาในตลาดเครื่องไหนสู้เสียงจากการ์ดได้

กรณีที่ 2

          เอาเครื่องเล่น DVD  Soken DV-480 (รุ่นโมดิไฟด์ราคา 15,100 บาท) ที่คุณภาพเสียง (มิติ) ดีกว่าเครื่องเล่น CD ค่ายญี่ปุ่นระดับ 260,000 บาท บันทึกลงการ์ดได้ในตัวของ DV-480 ถามว่าเมื่อเอาการ์ด (USB,SD)ที่ได้ไปเปิดกับวิทยุ-CD ติดรถที่มีช่องเล่น USB (SD)คุณคิดว่า จะมีเครื่องเล่นวิทยุ CD ติดรถรุ่นไหน ไม่ว่าราคาแพงเท่าไร ที่จะให้เสียงจาก CD สู้จากการ์ดนี้ได้ (เมื่อเล่นกับวิทยุที่เสียบ USB ได้)

ข้อสังเกต

          กรุณาอย่าพุดถึงการบันทึกหรือก๊อบปี้ CD ลงการ์ด หรือดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ลงการ์ดด้วยคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าคอมพ์นั้นๆจะดีแค่ไหน เพราะไม่มีการสู้การเล่นและก๊อบปี้ด้วยเครื่องแยกชิ้นจริงๆภายนอกได้เลย

          ปกติการเล่น ,ก๊อบปี้ลงการ์ดด้วยคอมพ์ ทั้งตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊ก คุณภาพการฟัง CD ในตัวมันก็แย่กว่าการฟังจากเครื่องเสียงแยกชิ้นดีๆถึง 3 เท่าอยู่แล้ว ก๊อบปี้ออกมาแย่ลงอีก 30 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เสียงจากการ์ดที่ได้จะเหลืออะไร หรือพูดให้ถูกก็คือ “มีอะไรให้เหลือฟัง”

          น่าเศร้าก็คือ เกือบทั้งหมดที่ชาวบ้านได้ยินเสียงทั้งแผ่น CD,MP3,และการ์ด MP3 ก๊อบปี้โดยใช้คอมพ์ทั้งนั้น จึงได้ภาพผิดๆหรือมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเสียงจากการ์ด

          อย่างการ์ด SD  ที่ผมก๊อบปี้จาก CD แค่ 320 kbps (โดยใช้เครื่อง Soken DV-480 โมฯ) คุณฟังแล้วจะช็อก เหมือนกับที่หลายๆคนช็อกไปแล้ว

หมายเหตุ

          ปัจจุบัน เครื่องเสียงที่มีช่องรับสัญญาณ USB นับวันจะมีมากขึ้นๆ ทั้งชุดมินิคอมโป, วิทยุกระเป๋าหิ้ว, AV รีซีฟเวอร์, วิทยุ CD ติดรถ, ปรีติดรถ, เครื่องเล่น DVD, เครื่องเล่นแผ่น Blu-ray แม้กระทั่ง LCD

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459